วันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2552

เรียนรู้การทำบายศรี

Input ( องค์ความรู้ที่ได้ศึกษา )

พิธีบายศรีสู่ขวัญ

พิธีสู่ขวัญ บางทีเรียกว่า "พิธีบายศรี" หรือ "บายศรีสู่ขวัญ" เป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ประเพณีสู่ขวัญทำกันแทบทุกโอกาส ทั้งในมูลเหตุแห่งความดีและไม่ดี ชาวอีสานถือว่าเป็นประเพณีเรียกขวัญ ให้มาอยู่กับตัว พิธีสู่ขวัญนี้เป็นได้ทั้งการแสดงความชื่นชมยินดี และเป็นการปลอบใจให้เจ้าของขวัญจากคณะญาติมิตรและบุคคลทั่วไป ผู้ได้ดีมีโชคหรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือมาเยี่ยมเราก็ยินดีจัดพิธีสู่ขวัญให้ ประเพณีสู่ขวัญจึงเป็น ประเพณีทำกันอย่างกว้างขวาง คำว่า"ขวัญ"นั้นเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่มีตัวตนคล้ายกับจิตหรือวิญญาณแฝง อยู่ในตัวคนและสัตว์ ตั้งแต่เกิดมาทุกคนมีขวัญกันทั้งนั้นและในบางแห่งเรามักแปลว่า "กำลังใจ" ก็มีคำว่า "ขวัญ" ยังมีความหมายอีกว่าเป็นที่รักที่บูชา เช่นเรียกเมียที่รักว่า "เมียขวัญ" หรือ "จอมขวัญ" เรียกลูกรักหรือลูกแก้วว่า "ลูกขวัญ" สิ่งของที่ผู้เคารพรักใคร่นับถือกันนำมาฝาก นำมาให้เพื่อเป็นการทะนุ ถนอมน้ำใจกันเราก็เรียกว่า"ของขวัญ" "ขวัญ" อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง ขน หรือผม ที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอย พิธีสู่ขวัญเป็นพิธีเก่า แก่ของชาวไทยเราแทบทุกภาค การทำพิธีก็ผิดเพี้ยนกันไปบ้างแต่ก็ยังยึดหลักใหญ่อยู่เหมือนกัน พิธีสุ๋ขวัญในบทความนี้ จะกล่าวถึงพิธีของชาวอีสานเป็นส่วนใหญ่ การทำพิธีสู่ขวัญเราอาจทำได้ถึง 2 วิธีพร้อม ๆ กัน คือวิธีทางพุทธศาสนาและวิธีทางพราหมณ์ศาสนา
วิธีทางพุทธศาสนา โดยการนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ ตั้งบาตรน้ำมนต์ เสร็จแล้วประพรมน้ำมนต์ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถาถ้ามีศรัทธาพอจะถวายภัตตาหารเช้า หรือเพลพระสงฆ์ด้วยก็ได้ ส่วนพิธีทางพราหมณ์ ก็คือการสู่ขวัญซึ่งจะได้อธิบายให้ละเอียดต่อไป

การทำพิธีสู่ขวัญต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างๆหลายอย่างดังนี้...

พาขวัญหรือพานบายศรี
คำว่า "บายศรี" นี้น่าจะมาจากภาษาเขมร คือคำว่า บาย + ศรีข้าว (สุก) ที่เป็นมงคลข้าวนี้จะ เป็นส่วนประกอบของการจัดพานบายศรี จะขาดไม่ได้ การจัดพาขวัญนี้ ปกติต้องจัดด้วยพาน ทองเหลืองและมีสัมฤทธิ์ (ขันลงหิน) หลาย ๆใบ ซ้อนกัน มีใบตอง ดอกไม้สด ด้ายสำหรับผูกข้อมือ (ผูกแขน)ปัจจุบันเริ่มมีการนำเอากระดาษสีต่างๆแต่ก็ผิดธรรมเนียมของท้องถิ่นไป พาขวัญอาจจัดเป็นชั้นๆ จะเป็น 3 ชั้น 5 ชั้น 7 ชั้น แล้วแต่ความสามารถ แต่คนเก่าคนแก่ของเมืองอุบล ฯ กล่าวว่าพาขวัญ 3 ชั้น 5 ชั้น เป็นของบุคคลธรรมดา ส่วน 7 ชั้น และ 9 ชั้นนิยมจัดเฉพาะสำหรับเชื้อพระวงศ์และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชั้นล่างของพาขวัญจะเป็นพานมีบายศรี (ทำด้วยใบตอง) ดอกไม้ ข้าวต้ม ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย ปั้นข้าว เงินฮาง มีดด้ามแก้ว ชั้น 2 , 3, 4 จะได้รับการตกแต่งด้วยใบศรี และ ดอกไม้ซึ่ง มักจะเป็นดอกฝาง ดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูณ ใบยอป่า อย่างสวยงาม ส่วนชั้นที 5 จะมีใบศรี และด้ายผูกข้อมือ เทียนเวียนหัว (ทำด้วยขี้ผึ้ง) ของเจ้าของขวัญ นอกจากพาขวัญแล้วจะมีเครื่องบูชาและอื่นๆ เช่น ขันบูชา มีพานขนาดกลางสำหรับวางผ้า 1 ผืน แพร 1 วา หวี กระจกเงา น้ำอบ น้ำหอม สร้อย แหวน ของผู้เป็นเจ้าของขวัญ
ด้ายสำหรับผูกข้อมือ (ด้ายผูกแขน) นั้นต้องเป็นด้ายดิบนำมาจับเป็นวงยาวพอที่จะพันรอบข้อมือได้ โบราณถือว่า คนธรรมดา วงละ 3 เส้นผู้ดีมีศักดิ์ตระกูล 5 เส้น (อาชญา 5 ขี้ข้า 3) เมื่อวงแล้วให้เด็ดหรือดึงให้ขาด เป็นเส้นๆห้ามใช้มีดตัดจะใช้มีดตัดได้เฉพาะด้ายที่มัดศพเท่านั้น ถ้าเป็นพาขวัญงานแต่ง คนจะเริ่มจัดพาขวัญต้อง เป็นคนบริสุทธิ์ (ปลอด) คือเป็นคนดีผัวเดียวเมียเดียว ถ้าจัดไม่เป็นเพียงมาจับพอเป็นพิธีแล้วให้คนอื่นๆจัดต่อ ไปจนเสร็จต้องจัดทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง พาขวัญฝ่ายชายจะให้หญิงบริสุทธิ์ (เด็กหญิงยังไม่มีประจำเดือน) หาบด้วยไม้ม้วนผ้าทอหูกเพราะถือเคล็ดเอาความสามัคคีรักใคร่ของผ้าและไม้ และการสูตรขวัญต้องสูตรเวลา ค่ำประมาณ 3 - 4 ทุ่มหลังรับประทานอาหารค่ำเสร็จถือว่าเป็นเวลาหนูเข้ารู (ยามหนูเข้าฮู) พาขวัญงานแต่ง จะต้องมีอาหารคาวหวานเป็นส่วนประกอบอีกด้วย พาขวัญแต่งเสร็จแล้วจะตั้งวางไว้ในที่อันเหมาะสมก่อนพอได้เวลาสูตรขวัญ คือจะทำพิธีจึงให้ยกไป ตั้งท่ามกลางญาติมิตรบนผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวของเจ้าของขวัญ ข้างๆพาขวัญนอกจากจะมีอุปกรณ์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีแก้วน้ำเย็น แก้วใส่น้ำส้มป่อย (กระถินป่า) และแก้วเหล้าสำหรับหมอสูตรขวัญจะได้ดื่ม หรือพ่นหรือจุ่มด้วยดอกไม้สลัดใส่พาขวัญซึ่งเรียกว่า"ฮดฟาย"

การสวดหรือการสูตรขวัญ
เจ้าภาพผู้จัดพิธีสู่ขวัญจะต้องจัดหาหมอนวดหรือสูตรขวัญซึ่งมักเรียกว่า "พราหมณ์" หรือ"พ่อพราหมณ์" ไว้ล่วงหน้า ปกตินี้พ่อพราหมณ์มักจะเป็นผู้ที่ทราบประเพณีสู่ขวัญเป็นที่นับถือของ ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้น หมอสูตรขวัญสมัยก่อนๆ นุ่งห่มธรรมดาเพียงให้มีผ้าขาวหรือให้มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ก็พอปัจจุบันนิยมนุ่งขาวห่มขาว นับว่าเป็นการพัฒนาให้เหมาะ สมกับสังคมสมัยใหม่
ก่อนลงมือสวด เจ้าภาพต้องเตรียม "ด้ายผูกแขนพราหมณ์" ไว้เป็นด้ายผูกข้อมือธรรมดาเป็นแต่เพียง มัดธนบัตรเป็นค่าบูชาพราหมณ์จำนวนมากหรือน้อยแล้วแต่เจ้าภาพจะเห็นสมควร และเจ้าภาพจะเป็นคนผูกข้อมือพราหมณ์ด้วยด้ายผูกแขนพิเศษนี้ พราหมณ์จะจัดให้เจ้าของขวัญนั่งให้หันหน้าไปในทิศทางต่างๆ ตามตำรา เจ้าของขวัญนั่งลงแล้วยกมือไหว้ พราหมณ์เสร็จแล้วใช้มือขวาจับพาขวัญตั้งจิตรอธิฐานขอให้เทวดาบันดาลให้เป็นไปดังหมอขวัญหรือพราหมณ์สูตร ญาติพี่น้องจะนั่งล้อมเป็นวงด้านหลังตั้งจิตรอธิฐานให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญ จงเกิดแก่เจ้าของขวัญแล้ว อ้อนวอนเทวดาเป็นภาษาบาลีว่า "สัค เค กา เม จ รูเป" … จบแล้วว่านโม 3 จบแล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย ครั้นจบแล้วจะสู่ขวัญอะไรก็เลือกว่าเอาตามต้องการให้เหมาะกับงาน การสวดต้องให้เสียงชัดเจน สละสลวย ไพเราะฟังแล้วเกิดความดีใจ ศรัทธาอุตสาหะ ในการทำความดียิ่งขึ้นจึงจะเป็นสิริมงคลแก่เจ้าตัวถ้าป่วยไข้ ไข้จะหาย ถ้าได้ดีได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งก็จะรักษาความดีไว้ให้คงทนไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมจนลืมตัวเมื่อสวดเสร็จ จะว่า " สัพพพุทธานุภาเวน สัพพธัมมานุภาเวน สัพพสังฆานุภาเวนสัพพโสตถี ภวันตุ เต ยถา สัพพี ภวตุ สัพ " ฯลฯ การเข้านั่งล้อมพาขวัญถ้าเป็นการแต่งงานคู่บ่าวสาวพร้อมด้วยเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเข้าร่วมพิธีด้วย จะจัดให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวนั่งชิดกันเวลาจับพาขวัญให้แขนเจ้าบ่าวทับแขนเจ้าสาวเพื่อนๆ เจ้าบ่าวจะ พยายามเบียดให้เจ้าสาวนั่งชิดกับเจ้าบ่าวให้มากๆจะมีการแกล้งเจ้าบ่าวต่างๆนานาเป็นที่สนุกสนาน การมาร่วมพิธีสู่ขวัญนี้คนโบราณได้เล่าว่าเมื่อครั้ง 70 ปีก่อนบ้านเมืองอุบลฯ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยการเลี้ยงไหมของขวัญผู้มาร่วมพิธีขวัญจึงเป็นไหมเส้นเป็นไจๆนับว่าเป็นของขวัญที่พอ เหมาะพอควรและไม่เคยมีการนำเอาเงินมาเป็นของขวัญไหมที่เจ้าของขวัญรับไว้ก็จะนำไปทอเป็นผ้าได้ภายหลัง การเชิญขวัญ ก่อนสูตรขวัญถ้ามีเวลาพอก็ให้ว่าคำเชิญขวัญเสียก่อนทุกครั้งการเชิญขวัญเป็นพิธีที่ดีอย่างหนึ่งคือเราขอความสำเร็จความศักดิ์สิทธิ์จากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เทวดา อินทร์ พรหม ผู้มีอิทธิฤทธิ์มาประสิทธิ์ประสาทพรให้จะได้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์เพราะผู้สวดและผู้ฟังไม่ใช่คนมีอิทธิฤทธิ์เมื่อ เราขอท่านท่านก็คงเมตตาประทานให้ตามคำขอ
คำเชิญขวัญ คำเชิญขวัญนั้นมีหลายสำนวนไม่มีแบบตายตัว ต่างหมอต่างสรรหาสำนวนที่เห็นว่า เหมาะกับเหตุการณ์เช่น คำเชิญขวัญสำหรับบุคคลธรรมดา ก็อีกสำนวนหนึ่ง สำหรับเชื้อพระวงศ์ก็อีกสำนวนหนึ่งเป็นต้น

การผูกแขนหรือข้อมือ
เมื่อพราหมณ์สูตรขวัญจบแล้วญาติพี่น้องจะเอาข้าว ไข่ กล้วย ใส่มือเจ้าของขวัญมือซ้ายหรือมือขวา ก็ได้ให้พราหมณ์ผูกข้อมือให้ก่อนปกติจะผูกข้อมือซ้ายเพราะแขนซ้ายถือเป็นแขนขวัญ เป็นแขนที่อ่อนแอใช้งาน หนักไม่ได้ เป็นแขนที่น่ารักทะนุถนอม ในเวลาผูกข้อมือนั้นทุกคนยื่นมือขวาออกไปพยุง (โจม) แขนของเจ้าของ ขวัญที่พราหมณ์กำลังทำพิธีผูกข้อมือให้ถ้าอยู่ห่างก็ยื่นมือจับแขนหรือแตะตัวกันต่อๆ มาเป็นเส้นสายเหมือน เชือกส่อแสดงถึงความสัมพันธ์ทางกายและใจเป็นอย่างยิ่ง แล้วตั้งจิตอธิฐานขอให้เจ้าของขวัญมีความสุขความเจริญเมื่อผูกข้อมือเสร็จแล้วให้ผู้เป็นเจ้าของขวัญมีความ สุขความเจริญเมื่อผูกข้อมือเสร็จแล้วให้ผู้เป็นเจ้าของขวัญประนมมือไหว้ผู้ให้พร เป็นการรับเอาพร เมื่อพราหมณ์ผูก เสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นโอกาสของญาติมิตรทั่วๆไปจะเข้ามาผูกข้อมือให้กับเจ้าของขวัญ
ด้ายผูกแขน (ด้ายผูกข้อมือ) ถือเป็นของดี ของศักดิ์สิทธิ์ควร รักษา ไว้อย่าพึ่งดึงทิ้ง ให้ล่วง 3 วันเสียก่อนจึงดึงออกเวลาทิ้งอย่าทิ้ง ลงที่สกปรก เพราะด้ายผูกแขนเป็นของขาวของบริสุทธิ์ เป็นจุดรวมแห่งจิตใจบริสุทธิ์หลาย ดวงจึงควรรักษาไว้ให้ดี ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าให้ฟังว่าด้ายผูกแขนที่เก็บรักษา ไว้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันอันตรายได้เช่น มีโจรมาปล้น อธิฐานขอให้จิต ทุกดวงช่วยก็ปลอดภัยจากอันตรายได้และเป็นเสน่ห์ดึงดูดจิตใจให้คนรัก-ใคร่ชอบพอได้
การผูกแขน (ผูกข้อมือ) การผูกแขนที่จะอำนวยประโยชน์สุขให้แก่เจ้าของ ขวัญควรประกอบ
ด้วยองค์ 4 คือ:-
- ผู้ผูกหรือพราหมณ์
- ผู้รับผูกหรือเจ้าของขวัญ
- ผู้เกี่ยวข้องคือญาติมิตร
- คำกล่าวขณะที่ผูก


คำกล่าวขณะที่ผูกเป็นคำเรียกร้องเชิญขวัญซึ่งเป็นคำที่ไพเราะ อ่อนหวาน สุภาพ เรียบร้อยมีความหมายไปในทางที่ดีงาม โอกาสจัดพิธีสู่ขวัญ มีหลายโอกาสเช่น คารวะพระพุทธรูป บายศรีพระสงฆ์ สู่ขวัญแม่ออกกรรม (คลอดบุตรออกไฟ) สู่ขวัญเด็กน้อย สู่ขวัญเฮือน สู่ขวัญคนธรรมดา สู่ขวัญแต่งงาน สู่ขวัญหลวง สู่ขวัญเกวียน สู่ขวัญขึ้นเล้า (ยุ้ง) สู่ขวัญน้อยก่อนแต่งงาน สู่ขวัญคนป่วยสู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่สู่ขวัญวัวขวัญควาย
จะเห็นได้ว่าพิธีสู่ขวัญนี้เป็นประเภท "ขนบประเพณี" คือประเพณีชาวอีสานได้เคยตั้งหรือร่างเป็นระเบียบแบบ แผนขึ้นไว้เป็นธรรมดาของประเพณีที่อาจมีส่วนปลีกย่อย แปลก แตกต่างกันออกไปบ้างในลักษณะของการพัฒนาเป็นลักษณะของความเจริญให้เหมาะสมกับกาลสมัยแต่ส่วนสำคัญ อันเป็นมูลฐานของประเพณีนี้ก็ยังคงอยู่และเป็นหน้าที่ของพวกรุ่นต่อไปจะเป็นผู้รับช่วงระวังรักษาไว้ให้มรดก อันสำคัญนี้ยั่งยืนสืบไป เพื่อแสดงความเก่าแก่ของชาติบ้านเมืองเรา...ฯ
หนังสืออ้างอิง : ปริญญาณ ภิกขุ ประเพณีโบราณไทยอีสาน อุบลราชธานี โรงพิมพ์ศิริธรรม. ๒๕๑๖




อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำบายศรี

การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เป็นการเตรียมการที่ดี สามารถดำเนินงานได้ด้วยความเรียบร้อยรวดเร็วซึ่งมีอุปกรณ์ที่ควรจะต้องเตรียมไว้ดังต่อไปนี้

1. ใบตอง (ควรให้ใบตองกล้วยตานี)
2. พานแว่นฟ้า ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ผูกติดกันไว้ด้วยลวด และรองพื้นพานด้วยโฟม
3. ภาชนะปากกว้างสำหรับใส่น้ำแช่ใบตอง 2 ใบ
4. สารส้ม
5. น้ำมันมะกอก ชนิดสีเหลือง หรือขาว
6. ไม้ปลายแหลม (ขนาดไม้เสียบลูกชิ้น) ประมาณ 20-30 อัน
7. ดอกไม้ (ดอกพุด ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ฯลฯ)
8. กรรไกร สำหรับตัดใบตอง
9. ลวดเย็บกระดาษ

การเลือก และ การทำความสะอาดใบตอง
ใบตองที่นำมาใช้สำหรับทำบายศรี มักนิยมใช้ใบตองจากกล้วยตานี เนื่องจากเป็นใบตองที่มีลักษณะเป็นเงา มันวาว เมื่อโดนน้ำจะยิ่งเกิดประกายสีเขียวเข้มสวยงามยิ่งขึ้น และที่สำคัญ ใบตองจากกล้วยตานี มีความคงทน ไม่แตกง่าย ไม่เหี่ยวง่าย สามารถนำมาพับม้วนเป็นรูปลักษณะต่างๆได้ง่าย และสามารถเก็บไว้ได้นานหลายวัน หรือถ้ารักษาโดยหมั่นพรมน้ำบ่อยๆ ใบตองกล้วยตานี จะสามารถคงทนอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์ทีเดียว
เมื่อได้ใบตองกล้วยตานีมาแล้ว จะต้องนำมาทำความสะอาดก่อน ด้วยการเช็ด โดยใช้ผ้านุ่มๆ เช็ดฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกต่างๆออกจากใบตองเสียก่อน โดยการเช็ด จะต้องใช้ผ้าเช็ดตามรอยของเส้นใบไปในทางเดียว อย่าเช็ดกลับไปกลับมา หรืออย่าเช็ดขวางเส้นใบเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ใบตองเสียหาย มีรอยแตก และช้ำ ทำให้ไม่สามารถนำใบตองมาใช้งานได้เต็มที่
เมื่อเช็ดสะอาดดีแล้ว ก็ให้พับพอหลวมๆ เรียงซ้อนกันไว้ให้เป็นระเบียบ เพื่อรอนำมาใช้งานในขั้นตอนต่อไป


การฉีกใบตองเพื่อเตรีมทำกรวยบายศรี
ใบตองที่ได้ทำความสะอาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หยิบมาทีละใบ แล้วนำมาฉีกเพื่อเตรียมไว้สำหรับม้วนหรือพับ ทำกรวยบายศรี

การพับหรือฉีกใบตอง แบ่งเป็นสามประเภทคือ
1. ใบตองสำหรับทำกรวยแม่ ฉีกกว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต
2. ใบตองสำหรับทำกรวยลูก ฉีกกว้างประมาณ 2 นิ้วฟุต
3. ใบตองสำหรับห่อ ฉีกกว้างประมาณ 1.5 นิ้วฟุต
ใบตองแต่ละประเภท ควรฉีกเตรียมไว้ให้ได้จำนวนที่ต้องการ กล่าวคือ ถ้าทำพานบายศรี 3 ชั้น ชั้นละ 4 ทิศ ( 4 ริ้ว ) นั่นก็หมายถึงว่าจะมีริ้วทั้งหมด 12 ริ้ว ในแต่ละริ้ว จะประกอบด้วยกรวยแม่ 1 กรวย และ กรวยลูก 9 กรวย รวมทั้งสิ้น จะมีกรวยแม่ 12 กรวย และ กรวยลูก 108 กรวย นั่นเอง แสดงว่าจะต้องมีใบตองสำหรับทำกรวยแม่ 12 ชิ้น ใบตองสำหรับทำกรวยลูก 108 ชิ้น ใบตองสำหรับห่อ 120 ชิ้น นั่นเอง แต่ใบตองสำหรับห่อ จะต้องเตรียมไว้เพื่อห่อริ้วอีก คือใน 1 ริ้วจะประกอบไปด้วย กรวยแม่ 1 กรวย กรวยลูก 9 กรวย ซึ่งจะต้องมาห่อรวมกัน ดังนั้น จึงต้องเพิ่มใบตองสำหรับห่ออีก 120 ชิ้น รวมเป็นใบตองสำหรับห่อ 240

การพับกรวย และห่อกรวย
การพับหรือห่อกรวย หมายถึงการนำใบตองที่ฉีกเตรียมไว้แล้วสำหรับพับกรวย มาพับ โดยการพับกรวยแม่และกรวยลูกจะมีลักษณะวิธีการพับเหมือนกัน คือ การนำใบตองมาพับม้วนให้เป็นกรวยปลายแหลม เพียงแต่กรวยลูกจะมีการนำดอกพุด มาวางเสียบไว้ที่ส่วนยอดปลายแหลมของกรวยด้วย เมื่อพับหรือม้วนใบตองเป็นกรวยเสร็จในแต่ละกรวยแล้ว ให้นำลวดเย็บกระดาษ มาเย็บใบตองไว้เพื่อป้องกันใบตองคลายตัวออกจากกัน แล้วเก็บกรวยแต่ละประเภทไว้จนครบจำนวนที่ต้องการเมื่อได้กรวยแต่ละประเภทครบตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็นำกรวยที่ได้มาห่อ โดยการนำใบตองที่ฉีกเตรียมไว้สำหรับห่อมาห่อกรวย หรือเรียกอีกอย่างว่า ห่มผ้า หรือ แต่งตัวให้กรวยบายศรี ส่วนวิธีการห่อ ศึกษาได้จากภาพยนตร์ที่แสดงให้ชม
ตอนที่ 6 การห่อริ้วบายศรีและการแช่น้ำ


การห่อริ้วบายศรี คือการนำกรวยแม่ และ กรวยลูกที่ได้ห่อกรวยไว้เรียบร้อยแล้ว มาห่อมัดรวมเข้าไว้ด้วยกัน ที่นิยมทำกัน ใน 1 ริ้ว จะประกอบด้วย กรวยแม่ 1 กรวย กรวยลูก 9 กรวย

วิธีการห่อริ้ว มีการห่อคล้ายกับการห่อกรวยแม่หรือกรวยลูก แต่จะแบ่งวิธีตามลักษณะงานที่ได้เป็น 2 วิธี คือ
1. ห่อแบบตรง คือการห่อโดยเริ่มต้นจากกรวยแม่ แล้ววางกรวยลูกไว้ด้านบนกรวยแม่เป็นชั้นๆทับกันขึ้นมา หรือหันกรวยลูกเข้าหาตัวผู้ห่อ การห่อแบบนี้ จะได้ริ้วบายศรีค่อนข้างตรง และในช่วงตัวริ้ว จะมีรอยหยักของใบตองห่อเรียกว่า มีเกล็ด
2. ห่อแบบหวาน คือการห่อ โดยเริ่มต้นจากกรวยแม่ แต่วางกรวยลูกไว้ด้านล่างของกรวยแม่ และวางซ้อนลงด้านล่างลงไปจนครบ หรือหันกรวยแม่เข้าหาตัวผู้ห่อ โดยวางกรวยลูกลงด้านล่างจนครบนั่นเอง การห่อแบบนี้ จะได้ริ้วบายศรีเป็นลักษณะอ่อนช้อย งอน อ่อนหวาน

เมื่อห่อริ้วจนเสร็จในแต่ละริ้วแล้ว จึงนำริ้วที่ได้ลงแช่ในน้ำผสมสารส้มที่เตรียมไว้ประมาณ 20 นาที เพื่อให้ใบตองเข้ารูปทรง อยู่ตัวตามที่ได้พับและห่อ จากนั้น จึงนำไปแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกต่อไป เพื่อให้ริ้วมีความเป็นมันวาว เน้นสีเขียวเข้มของใบตองมากขึ้น และมีกลิ่นหอมในตัวเอง

การประกอบพานบายศรี
การประกอบพานบายศรี ถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการทำบายศรี คือการนำริ้วที่ทำเสร็จแล้วและแช่ในน้ำผสมน้ำมันมะกอกแล้ว มาประกอบเข้ากับพานบายศรี 3 ชั้นที่ได้เตรียมไว้
การน้ำริ้ว มาประกอบกับพาน ควรเริ่มต้นจากพานใหญ่สุด หรือพานที่วางอยู่ชั้นล่างสุดก่อน โดยการวางให้ริ้วอยู่บนพานให้มีระยะห่างเท่าๆกัน 4 ริ้ว ( 4 ทิศ ) ซึ่งจะยึดริ้วติดกับพานโดยใช้ไม้ปลายแหลมที่เตรียมไว้แล้ว มากลัด หรือเสียบจากด้านบนของริ้วให้ทะลุไปยึดติดกับโฟมที่รองไว้บนพื้นพาน
การประกอบริ้วกับพานชั้นกลาง และชั้นบนสุด ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่จะต้องให้ริ้วชั้นที่ 2 วางสลับกับริ้วชั้นแรก และริ้วบนพานชั้นบนสุด ก็ให้สลับกับริ้วบนพานชั้นกลาง
การประกอบริ้วกับพานชั้นบนสุด ให้ห่อใบตองเป็นกรวยขนาดใหญ่พอควรวางไว้เป็นแกนกลางของพาน เมื่อวางริ้วทั้ง 4 ริ้วเสร็จแล้ว ให้รวบปลายสุดของริ้วทั้ง 4 เข้าหากัน โดยมีกรวยที่ทำเป็นแกนกลางอยู่ด้านใน แล้วนำใบตองม้วนเป็นกรวยขนาดใหญ่อีกกรวย มาครอบทับยอดทั้ง 4 ของริ้วไว้ ซึ่งจะทำให้พานบายศรีที่ได้ มียอดแหลมที่สวยงามและมั่นคง
จากนั้นจึงนำใบไม้ (ส่วนใหญ่จะนำใบไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล เช่น ใบเงิน ใบทอง ) มาวางรองบนพาน เพื่อปกปิดไม่ให้มองเห็นโฟมที่รองพื้นพาน และนำดอกไม้สีสด เช่น ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกดาวเรือง มาประดับบนพานเพิ่มความสวยงามหรือทำมาลัย สวมบนยอด หรือทำเป็นอุบะร้อยรอบพานแต่ละชั้น ก็จะเพิ่มสีสัน และความสวยงามให้แก่พานบายศรีมากขึ้น
ขั้นตอนและวิธีทำบายศรี ก็มีอยู่เพียงเท่านี้ หมั่นศึกษาจากซีดีประกอบการสอนนี้ และฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะสามารถทำบายศรีได้ด้วยตนเอง และมีฝีมือสามารถทำบายศรีใช้ในงานพิธีต่างๆ และทำเป็นอาชีพ นำรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว

Process

สัปดาห์ที่ 1 ( 18 - 23 พฤศจิกายน 2551)
ศึกษาหลักการ ทฤษฎี วิธีการทำบายศรี

สัปดาห์ที่ 2-3 ( 24 พ.ย. – 7 ธ.ค. 2551)
ทดลองปฏิบัติจริง กับ ผู้มีความรู้ในการ ทำบายศรี

สัปดาห์ที่ 4 ( 8 - 14 ธันวาคม 2551)
พัฒนาฝีมือของตนเองจากทำเป็น ให้เกิด ความชำนาญและมีความประณีตสวยงาม

สัปดาห์ที่ 5 ( 15 - 21 ธันวาคม 2551)
สรุปองค์ความรู้และเตรียมนำเสนอผลงาน

Out put

บายศรี ที่มีความประณีตสวยงาม

Feed back
ข้าพเจ้ามีความรู้ในเรื่องการทำบายศรี ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ ผลงานที่ออกมาก็สวยงามเป็นไปตามที่ตั้งใจไว้
กว่าจะเป็นภาพนี้

















ก่อนที่จะทำบายศรีเราต้องเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ให้พร้อมก่อน ซึ่งโดยทั่วไปวัสดุอุปกรณ์ในการทำบายศรีมีดังนี้


1. ใบตอง (ควรใช้ใบตองกล้วยตานี)












2. พานแว่นฟ้า ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ผูกติดกันไว้ด้วยลวด และรองพื้นพานด้วยโฟม














3. ภาชนะปากกว้างสำหรับใส่น้ำแช่ใบตอง 2 ใบ












4. สารส้ม













5. น้ำมันมะกอก ชนิดสีเหลือง หรือขาว














6. ไม้ปลายแหลม (ขนาดไม้เสียบลูกชิ้น) ประมาณ 20-30 อัน หรือ ตะปู















7. ดอกไม้ (ดอกพุด ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ฯลฯ)
















8. กรรไกร สำหรับตัดใบตอง











9. ลวดเย็บกระดาษ














เมื่อเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้วก็ลงมือทำบายศรีดังนี้


เลือกและทำความสะอาดใบตอง
















ฉีกใบตองเพื่อเตรียมทำกรวยบายศรี



















พับกรวยและห่อกรวย









การห่อริ้วบายศรีและการแช่น้ำ










การประกอบพานบายศรี















ตกแต่งให้สวยงาม














ขั้นตอนและวิธีทำบายศรี ก็มีอยู่เพียงเท่านี้ ผู้ที่สนใจหมั่นศึกษา และฝึกฝนบ่อยๆ ก็จะสามารถทำบายศรีได้ด้วยตนเอง และมีฝีมือสามารถทำบายศรีใช้ในงานพิธีต่างๆ และทำเป็นอาชีพ นำรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว



ถึงท่านผู้ที่เริ่มจาก ศูนย์
ข้าพเจ้าสนใจการทำบายศรี แต่ไม่มีความรู้อะไรเลยในเรื่องของบายศรี ซึ่งถือว่าเริ่มต้นจากศูนย์เช่นกัน ขอให้ท่านผู้ที่เริ่มจากศูนย์เหมือนข้าพเจ้า เชื่อมั่นและศรัทธา
ในความสามารถของตนเองในการที่จะทำบายศรีแล้วท่านก็จะพบความจริงเหมือนข้าพเจ้าว่าไม่มีอะไรยากสำหรับเรา


ไม่มีความคิดเห็น: